เมื่อเราติดตั้ง WordPress บน hosting เสร็จแล้วอย่างที่เราต้องการ สิ่งหนึ่งที่เราต้องจัดการในลำดับต้นๆ ก็คือการตั้งค่าเว็บไซต์ ให้ถูกต้องเสียก่อน เช่น ภาษา (Language) และเวลา (Date time) เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ระบบ รวมถึง Plugin อีกหลายๆ ตัวมีข้อมูลที่ใช้ในการอ้างอิง กับเวลา และภาษาได้ ข้อมูลที่แสดงหน้าเว็บไซต์ จะได้ไม่เป็นภาษาต่างดาว อ่านกันไม่ออก เดากันไม่ถูกว่าบทความที่เขียนกันไปนั้น เป็นเรื่องอะไร

ก่อนหน้านี้ ผมติดตั้ง WordPress โดยเลือกค่าที่ใช้ในการติดตั้งเป็น Eng-US ดังนั้น ทั้งเมนู และเว็บไซต์ จะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด แต่ตอนนี้ต้องการเลือก Site Language มาเป็นภาษาไทย เพื่อให้แน่ใจว่า เว็บไซต์ของเรา จะแสดงผลภาษาไทยอย่างถูกต้อง ในทุกๆ browser ทุกๆ ที่หนทุกแห่ง ที่มีคนเรียกดูเว็บของเรา

หลังการเปลี่ยน และ Submit แล้ว เมนูทางด้านซ้าย และชื่อการตั้งค่าต่างๆ ทุกอย่าง จะกลายเป็นภาษาไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งผมไม่ค่อยคุ้น เพราะหลายเมนู หลาย Plugin มันไม่มีภาษาไทยด้วย เวลาเจอลูกผสมแบบนี้แล้วรู้สึกลำบากมากกว่าเดิม เดี๋ยวจะเปลี่ยนเมนูทั้งหมดให้กลับเป็นภาษาอังกฤษใหม่ รอสักครู่

เมื่อเราเปลี่ยนภาษาของเว็บไซต์ ให้เป็นภาษาไทยไปแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนเวลาของเว็บไซต์ด้วย เพื่อการอ้างอิงกับเวลาได้อย่างถูกต้อง เลือกเป็น UTC+7 สำหรับประเทศไทย

เมื่อเราปรับเปลี่ยนเขตเวลาไปแล้ว ก็สังเกตดีๆ จะเห็นว่า ระบบได้แสดงเวลาท้องถิ่นมาด้วย ลองชำเลืองมองเวลาในเครื่องของเรา จะเห็นว่าเวลาตรงกันกับที่ระบบของ WordPress แสดงให้เราเห็นแล้ว

หลังจากนั้น เราจะต้องเลือก รูปแบบวันที่ ที่เราต้องการ ถ้ายังไม่ถูกใจ มีช่องให้ปรับแต่ง พร้อมทั้งมีตัวอย่างการแสดงวันที่ ให้ดูด้วย เวลาก็เช่นกัน เลือกเอาที่เราพอใจได้เลย อยากให้ WordPress แสดงเวลาในเว็บเรายังไง เลือกได้จนพอใจ พร้อมทั้งมีตัวอย่างการแสดงเวลาให้เราดูด้วยเช่นเคย ถัดมาเป็นเวลาเริ่มต้นของสัปดาห์ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นวันจันทร์อย่างไม่ต้องสงสัย สำหรับไทยเรา หรือใครอยากจะเปลี่ยนก็ตามใจนะ
เมื่อเราปรับแก้ค่าต่างๆ จนพอใจแล้ว ก็ถึงเวลากด Submit หรือ บันทึกการเปลี่ยนแปลง ได้แล้ว จากนั้นจะย้อนกลับไปที่หน้าเว็บไซต์กันอีกสักครั้ง ที่หน้า Front end หรือหน้าเว็บ เราจะมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใดๆ หรอก แต่เมื่อหาทาง View Source หน้าเว็บไซต์แล้วจะเห็นความเปลี่ยนแปลง (คลิกเมาส์ขวา เลือก View Source)

ลองอ่านที่บรรทัดแรกโดยไม่ต้องออกเสียง เพราะดูท่าจะออกเสียงลำบาก สำหรับหลายๆ คน ที่ไม่เข้าใจภาษาประหลาดๆ แบบนี้ สังเกตว่ามี lang=”th” ซึ่งขยายความออกมาได้ว่า language ของเว็บไซต์นี้ เป็น thai หรือ ภาษาไทย นะ เป็นการส่งเสียงบอก Browser ให้เข้าใจตรงกัน จะได้แสดงผลให้ User ผู้เข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างถูกต้อง

ซึ่งก่อนหน้านี้ ที่ผมเลือกการติดตั้งเว็บไซต์ WordPress นี้เป็นภาษาอังกฤษ จะถูก Set ค่าเริ่มต้นของเว็บเป็น lang=”en-US” ซึ่งแปลได้ง่ายๆ ว่าเว็บไซต์ของเราเป็น ภาษาอังกฤษแบบ US ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะหน้าเว็บไซต์ของเรายังแสดงภาษาไทยอยู่เลย สำหรับคนไทย คนต่างชาติ ที่เปิดหน้าเว็บเราจากประเทศของเค้า ก็จะเห็นภาษาที่แปลกแตกต่างไปแน่นอน
ไหนๆ ก็ไหนๆ ถัดมาที่แสดง meta charset=UTF-8 นั้น เป็นการบอกกับ Browser ว่า ระบบของชุดตัวอักษร ที่ใช้กับเว็บไซต์ของเราน่ะ ใช้ตามมาตรฐาน UTF-8 นะ ถ้าใครอยากจะรู้เหตุผล ที่มาที่ไป ทำไมต้อง UTF-8 นั้นจะยาวมาก ลองค้นหาจาก Search engine เพื่อหาคำอธิบายเพิ่มแล้วกันครับ แต่ค่าตัวแปลนี้ และใน Database ต้องเป็น UTF-8 เหมือนกัน ไม่งั้นแสดงภาษาไทยไม่เป็นภาษาไทยแน่ๆ

ติดค้างเอาไว้เมื่อสักครู่นี้ ว่าเมนูของหน้า Back end ของเราตอนนี้เป็นภาษาไทยทั้งหมดไปแล้ว แต่ Plugin เกือบทั้งหมดที่เราติดตั้ง จะมีแต่เมนูภาษาอังกฤษ ซึ่งการอ่านสองภาษาสลับไปมา สร้างความมึนแก่ผมมากกว่า ดังนั้น ต้องการเปลี่ยนแปลงเฉพาะภาษาไทยที่เมนูเท่านั้น โดยไม่ต้องเปลี่ยนค่าภาษาของเว็บไซต์ ก็ต้องไปแก้ที่ระดับ User หรือ ผู้ใช้งานแทนครับ เลือกที่ ผู้ใช้ และ ผู้ใช้ทั้งหมด

สำหรับเว็บนี้ Blog นี้ ทำเองคนเดียว ก็เลยมีชื่อเพียงคนเดียว ไม่ยุ่งไม่ยาก ไม่วุ่นวายกับใคร ถ้าใครมาหลายๆ ชื่อ ก็เลือกไปที่ชื่อที่เราต้องการแก้ไขแล้วกัน

ในหน้าของการแก้ไข user profile จะมีหน้าตาแบบนี้ โดยคร่าวๆ แต่ผมจะไม่พูดถึงทั้งหมด ค่า setting บางตัว ผมยังไม่เคยใช้เลย เช่น ค่าสีของ Admin Color Scheme

ย้อนกลับไปนิดนึง ก่อนหน้านี้ เลือก ผู้ใช้ (Users) และ ผู้ใช้ทั้งหมด (All Users) ให้ดูเท่านั้นเอง แต่ที่จริง เลือก Users และ ข้อมูลส่วนตัวของคุณ (Your Profile) ได้เลย ถ้าทำเว็บคนเดียว ดูแลเว็บคนเดียวแบบผม ไม่ต้องเลือกกันหลายๆ รอบ

เปลี่ยนภาษาใน Profile ของเรา จากค่าตั้งต้น ใช้ภาษาหลักของเว็บ หรือ ไทย มาเป็น English (United States) แล้ว Save ค่าได้เลย

เมนูหลักด้านซ้ายมือ เปลี่ยนกลับมาเป็นภาษาอังกฤษหมดแล้ว ถูกต้องตามต้องการ แต่มีอีกจุดนึง ที่อยากให้สังเกตด้วย นั่นก็คือ Toolbar มีตัวเลือกให้ติ๊ก ทำเครื่องหมาย จะเอา หรือไม่เอาการแสดงผลในหน้า Front end เวลาที่ดูแบบ preview หรือดู website แบบ login admin ไว้

ค่าโดยตั้งต้นของระบบ WordPress จะให้แสดง Toolbar ไว้ด้านบน

ในส่วนของ Toolbar บอกตามตรงว่า ผมไม่เคยได้ใช้งานเลย ไปที่หน้า Admin ตลอด ดังนั้นจึงไม่ทิ้งเลือกตัวเลือกนี้ไว้ เอาออกสิครับ จะรออะไร ที่ต้องเอาออก เพราะบางทีอาจจะมีปัญหากับ Cache ได้ โดยเฉพาะการ cache แบบ every thing บน cloudflare ซึ่งมีโอกาสที่แถบดำๆ นี้ จะถูก cache ไปด้วย และผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บเรา จะมีโอกาสคลิกได้ ซึ่งเราคงไม่อยากให้เป็นแบบนั้นแน่ๆ ผมเชื่อ
การตั้งค่าแบบ General setting ของ WordPress ก็จบเพียงแค่นี้ แต่เดี๋ยวเราจะไปต่อ ยังเหลือรายละเอียดอีกมากที่ยังไม่ได้กล่าวถึง บอกแล้วว่า ก้าวสั้นๆ แต่ขยันเดิน เดี๋ยวก็ไปถึงจุดหมาย