เมื่อเราพร้อมที่จะทำการติดตั้ง WordPress แล้ว และมั่นใจที่จะติดตั้งระบบแบบ Manual หรือ การติดตั้งเอง ไม่ใช้ตัวช่วยอัตโนมัติที่ hosting เกือบทุกที่ ได้เตรียมเอาไว้ให้ ก็ต้องเตรียมความพร้อมกันก่อนเล็กน้อย เพราะ WordPress ต้องใช้ Database ในการเก็บข้อมูล เนื้อหา บทความ ทุกๆ อย่างที่เราจะเขียนในอนาคต รวมไปถึงชื่อของรูปภาพ ประกอบบทความ ต่างๆ ด้วย
เช่นเคย การทำงานเกี่ยวกับระบบ อะไรที่เกี่ยวข้องกับ Hosting เราจะต้องเข้าไปในส่วนหลังบ้าน หรือ Control Panel ซึ่งมีมากมายหลายยี่ห้อ ถ้าเป็นเว็บ hosting ของไทย จะนิยมนำเสนอ Direct Admin มาให้เรา แต่ก็มีตัวเลือกเป็น Cpanel อยู่บ้างเหมือนกัน ในขณะที่ Hosting เมืองนอกเมืองนา นิยม Cpanel กัน ซึ่งในวันนี้ ก็จะนำเสนอ การเตรียมตัว เตรียม Database ผ่านทางหน้า Admin ของ Cpanel นี่แหละครับ
จะเข้าหน้า Admin ของ Control Panel ได้อย่างไร ต้องลองสังเกต และตรวจดูจาก Email ที่เราได้รับมาจาก Hosting ที่เราซื้อบริการเอาไว้ ซึ่งในนั้นจะระบุเอาไว้แบบหมดไส้หมดพุง ทั้ง Login และ Pwd รวมไปถึง Link URL ต่างๆ ที่สำคัญสำหรับเว็บไซต์ของเรา ดังนั้น ห้ามทำหายเด็ดขาด และห้าม Forward ไปให้กับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง เพื่อความปลอดภัยของเว็บไซต์ของคุณ
สร้าง Database ด้วย Wizard
เพื่อความสะดวก และรวดเร็ว ลดความสับสน ปวดหัว และหลงลืม เราจะแนะนำวิธีสร้างที่ง่ายที่สุดก่อน ถ้าใครชื่นชอบความยุ่งยาก ก็เลื่อนลงไปด้านล่าง เพื่อสร้าง Database แบบ Manual ได้เลย
การเตรียม Database ให้พร้อม ด้วยวิธีที่ง่ายสุดๆ ก็ต้อง Wizard สิ เลื่อนไปที่ Database แล้วคลิกที่ไอคอน MySQL Database Wizard เลย
ขั้นตอนแรกสุดใน Step 1 นึกชื่อ Database ที่จะใช้ให้ออก ความจริงจะใช้ชื่ออะไรก็ได้ เราไม่ต้องมาคอยจำ เพราะไม่ได้ใช้ในการกรอก login เข้าเว็บอะไรเลย ตั้งให้สวยๆ หรูๆ ยาวๆ ก็ได้ ชื่นชอบ ชื่นชมดาราคนไหน จะยกมาตั้งเป็นชื่อ Database ก็ไม่มีใครห้าม เช่น nadechdatabase , myyayadatabase เรียบร้อยแล้วก็กด Next Step ไปก่อนกันเลย
ขั้นตอนถัดมาใน Step 2 เราจะต้องสร้าง Database User ซึ่งในขั้นตอนนี้ เป็นการกำหนดชื่อให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับ Database ที่เราเพิ่งจะตั้งชื่อไปเมื่อสักครู ในขั้นตอนนี้ ใครอยากจะได้ชื่ออะไร อยากเป็นดาราคนไหน จะใส่ไปตามนั้นก็ได้ เช่น iamnadech , iamyaya โลกแห่งความจริงเป็นไม่ได้ ก็เอาโลกดิจิตอลนี่แล้วกัน
จากนั้นก็เลือก Password ซึ่งขอแนะนำให้ใช้การ Generate เอา ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกังวลว่าจะจำไม่ได้ เพราะเราไม่จำเป็นต้องจำ ไม่ต้องนำมาใช้ในการ Login เช่นกัน แต่ช่วยป้องกัน ไม่ให้ผู้บุกรุกเดา Pwd ถูกต่างหาก แต่ต้อง Copy เก็บไว้ชั่วคราวด้วย เพราะต้องใช้ในขั้นตอนการติดตั้ง WordPress และหลังจากนั้น ก็ทำลาย ลบมันทิ้งไปซะ อย่างเก็บเอาไว้ให้ใครได้รับรู้
ใช้ Password Generator กันขนาดนี้แล้ว ไม่สตรองให้มันรู้ไปสิ ผลลัพธ์ออกมา 100/100 เลยทีเดียว ปลอดภัยการคาดเดารหัสผ่านของ Database แน่นอน
ในหน้าถัดมาเป็นขั้นตอนสุดท้าย Step 3 ระบบจะทำการ Mapping Username กับ Password เข้าด้วยกันให้เราเอง แต่เราจะต้องกำหนดสิทธิ์ในการใช้งาน Database ให้กับ User ที่เราสร้างขึ้นด้วย ในที่นี้ เลือกทั้งหมดเลย แล้วคลิก Next Step อีกเช่นเคย
หน้าสุดท้าย ท้ายสุดๆ เป็นการแจ้งว่าทั้ง Database และ Username ได้ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว พร้อมกับการเชื่อมโยงผู้ใช้ กับด้าต้าเบสแล้วด้วย เสร็จสิ้นภาระกินการสร้าง Database แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องจด Database name , Username และ Pwd เก็บเอาไว้ด้วย จนกว่าจะติดตั้ง WordPress ให้เสร็จเรียบร้อย
สร้าง Database ด้วยตัวเอง
การสร้าง Database ด้วยตัวเองแบบ Manual ความจริงก็ไม่ได้มีความยากเย็นอะไรเลย แต่คนจำนวนมากมาย โดยเฉพาะมือใหม่ จะหลงลืม ไม่เข้าใจในขั้นตอนที่สำคัญที่สุด คือการ Mapping หรือ เชื่อมโยง Database เข้ากับ User ที่เราสร้างขึ้น เมื่อนำ Username และ Password ที่เราสร้างเอาไว้ ไปใช้ในการติดตั้ง WordPress จึงไม่สำเร็จ ใครเคยหลงเคยลืม มาดูขั้นตอนชัดๆ
เลื่อนหน้าจอลงมาในส่วนของ Database แล้วคลิกเลือกที่ไอคอน MySQL Database แบบไม่มี Wizard ต่อท้าย เพื่อความมันส์
ก่อนจะกรอก ก็นึกถึงชื่อที่ต้องการกรอกสักหน่อย เอาชื่อที่เราคุ้นเคยก็ได้ ใครจะเอาชื่อดาราคนโปรด มาตั้งชื่อก็ไม่ผิดกติกา อย่าสั้นมาก ยาวๆ ไม่ว่ากัน จำไม่ได้ไม่เป็นไร เพราะเราไม่ต้องนำไปใช้กรอก Login ที่ไหน จะใช้ตัวอักษรเพียวๆ แบบอ่านไม่ออกเลยก็ยังได้ ไม่มีปัญหา ชอบณเดชก็ใส่ lovelynadechdatabase ก็ได้ จากนั้นก็คลิกที่ Create Database
ระบบจะแจ้งเราว่า ทำการสร้าง Database ให้เราเรียบร้อยแล้วนะ พร้อมจะไปต่อแล้วก็กด Go Back กลับไปหน้าเดิม ที่เราเพิ่งจะผ่านมา
เลื่อนลงมาตรง MySQL Users แล้วกรอกชื่อที่เราต้องการจะใช้ ชื่อยาวๆ ก็ได้ เราไม่ได้ใช้ login เว็บไซต์หรอก เพียงแค่ป้องกันผู้บุกรุกเท่านั้น ชื่อชอบดาราคนไหน ก็ใช้ชื่อดาราได้ เช่น iamyaya , iamnadech , yayaandnadechusername ได้ทั้งนั้น
จากนั้นก็คลิกที่ Password Generator เพื่อให้ระบบสุ่มตัวอักษร ขึ้นมาเป็น Password ให้กับเรา ซึ่งขอแนะนำให้ใช้ตัวเลือกนี้ และไม่ต้องกลัวว่าจะจำไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ใช้ login เราจะเก็บไว้ให้ WordPress ใช้งาน ดังนั้น เมื่อ Generate แล้วก็ Copy เก็บไว้สักครู เมื่อติดตั้ง WordPress แล้วก็ทิ้งไปได้เลย เราไม่ใช้แล้ว
จากนั้น ระบบก็จะแจ้งให้เราได้รับทราบว่า เราได้สร้าง User ในชื่อที่เราต้องการ เรียบร้อยแล้วนะ ให้กด Go Back เพื่อกลับไปหน้าจอเมื่อสักครู่ อีกครั้งหนึ่ง
กลับมาถึงขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ที่หลายคนไม่รู้ มือใหม่ไม่เข้าใจ เราจะต้องการการ Mapping หรือเชื่อมโยง Database กับผู้ใช้งาาน Database เข้าด้วยกัน เพื่อจำกัดสิทธิ์ในการใช้งาน Database นั้นๆ เมื่อสักครู เราสร้าง Database name กับ User name แล้ว เลือกใน Drop Down ได้เลย ถ้าใครสร้างเพียงอย่างละ 1 ก็ไม่ต้องเลือกอะไร เพราะระบบนำขึ้นมาให้เราแล้ว ตรวจสอบความถูกต้อง แล้วคลิกเลือก Add ได้เลยครับ
หน้าจอถัดมา เป็นการอนุญาตให้เข้าถึงการใช้งาน Database ที่เราเพิ่งจะสร้างขึ้น ตรงนี้เราสามารถเลือกทั้งหมดได้เลย ติดตั้ง WordPress เสร็จค่อยกลับมาแก้ไขก็ยังได้ จบตรงนี้ ก็เท่ากับสิ้นสุดการสร้าง Database แบบ Manual สุดๆ แล้ว และผมลืม Capture หน้าจอสุดท้ายให้ดูกัน ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการใช้ MySQL Database Wizard เลย