เริ่มการติดตั้ง WordPress กันต่อ หลังจากที่ได้จัดการสร้าง Database เตรียมการติดตั้ง WordPress เอาไว้แล้ว และทำการ Upload ไฟล์ของ WordPress ที่จะต้องใช้ในการติดตั้ง ขึ้นไปที่ Hosting ของเราแล้ว มาถึงตอนนี้ก็เป็นขั้นตอนการติดตั้งตามปกติ ซึ่งจะยาวกว่าการติดตั้ง WordPress แบบอัตโนมัติอยู่แค่ไม่กี่ขั้นตอนเลย มาดูรายละเอียดกันดีกว่า

จากบทความก่อนหน้านี้ ในภาคแรก เราได้ Upload ไฟล์การติดตั้ง WordPress ขึ้นไปบน Hosting ของเราไว้เรียบร้อยแล้ว โดยนำไฟล์ทั้งหมดไปไว้ที่ Folder หลักที่ชื่อ public_html ดังนั้น เราจะป้อน URL เป็น https://9wit.com แต่ถ้าใครมีการวางไฟล์ไว้ลึกลงไปอีก เช่น อยู่ใน Folder WordPress อีกทีนึง ก็จะต้องป้อน URL เป็น https://9wit.com/wordpress นะครับ ทีนี้ เมื่อเราป้อน URL ดังนั้นแล้ว เราก็จะเข้าสู่กระบวนการติดตั้ง หน้าแรก เราจะเห็นเหมือนในรูป คือให้เลือกภาษา ที่จะใช้ในการติดตั้งก่อน และแน่นอน ภาษาไทยเราไม่น้อยหน้าใคร มีภาษาไทยให้เลือกด้วย

เมื่อเลือกภาษา แล้วคลิก Next หรือ ต่อไป แล้ว ก็จะมาถึงหน้าอธิบาย ว่าเราจะต้องเตรียมข้อมูลอะไรเอาไว้บ้าง เป็นภาษาไทย เมื่อเราเลือกภาษาไทยนะครับ

เนื่องจากผมได้ทำการติดตั้งซ้ำแล้วซ้ำอีก ให้กับหลายเว็บไซต์ และคุ้นเคยหน้าตาที่เป็นภาษาอังกฤษแบบนี้ ดังนั้น ขอใช้เป็นภาษาอังกฤษนะครับ

ก่อนจะไปยังขั้นตอนต่อไป ตามที่ WordPress ได้แจ้งเตือนเอาไว้ ว่าต้องการข้อมูลอะไรบ้าง แน่นอนว่า ต้องมี Database ด้วย ซึ่งได้ Copy เก็บเอาไว้แล้ว ถ้าใครยังไม่มี กลับไปอ่านบทความเรื่องการเตรียม Database เพื่อการติดตั้ง WordPress ก่อนนะครับ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อม

เราต้องกรอกข้อมูลลงในช่องต่างๆ ที่เห็นอยู่นั้นให้ครบทุกช่อง ซึ่งมีคำอธิบายคร่าวๆ ภายในช่องกรอก และด้านหลัง ให้เข้าใจง่ายๆแล้ว

Database name , User name และ Password จะใช้ข้อมูลตามที่เราได้ Copy เก็บเอาไว้ ส่วน Database Host นั้น Hosting ส่วนมากเลย ใช้ค่านี้ได้ไม่ต้องเปลี่ยน แต่ถ้ามีปัญหา ลองเปลี่ยนเป็น 127.0.0.1 แทนได้ ส่วน Table Prefix ควรเปลี่ยนจาก wp_ ไปเป็นอื่นๆ ความยาว 2-5 ตัวอักษรก็พอ อย่ายาวมากไป เดี๋ยวอ่านชื่อตารางลำบาก ส่วนเหตุผลที่ควรเปลี่ยน เพราะผู้บุกรุก จะรู้ค่าเบื้องต้นดีว่า WordPress กำหนด wp_ เอาไว้ ไม่ต้องเสียเวลาเดาเลย ดังนั้น ในตัวอย่างจึงใช้เป็น tiw_ แทน

เมื่อระบบได้ตรวจสอบข้อมูลของเราครบถ้วนแล้ว ก็จะแจ้งให้เราทราบ พร้อมกับรอรับคำสั่งจากเรา เพื่อเริ่มต้นติดตั้ง WordPress

การติดตั้ง WordPress สำเร็จลงแล้ว มาถึงขั้นตอน การใส่ข้อมูล สำหรับผู้ดูแลระบบ หรือ Admin

เราสามารถจะกำหนดค่าต่างๆ ตามความต้องการของเราได้เลย Site Title เป็นชื่อเว็บไซต์ของเรา แต่แก้ไขทีหลังได้ ส่วน Username จะเป็นอะไรก็ได้ แต่ห้ามใช้คำว่า Admin เด็ดขาด เพราะถูก hack กันมานักต่อนักแล้วด้วยชื่อนี้ เพราะเมื่อก่อนนี้ WordPress จะใส่ชื่อนี้ มาเป็นค่าตั้งต้น และคนส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนกัน ถัดมาเป็น Password ควรจะเชื่อตัววัดความแข็งแรงของ Password ด้วย เอาให้ Strong เข้าไว้ และ Email ต้องใส่ไว้ด้วย ถ้ามีอะไรเกี่ยวข้องกับเว็บ เช่น มีการปรับ Update version ของ WordPress อัตโนมัติ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ Security ระบบจะส่งอีเมล์มาแจ้งเราให้ทราบ ส่วนตัวเลือกสุดท้าย Search Engine Visibility ไม่ต้องไป ติ๊กนะครับ เพราะหมายถึง ไม่ยอมให้ Search engine ไม่วิ่งเข้ามาเก็บข้อมูลเว็บเรา ถ้าเว็บเราไม่เป็น Private คงอยากให้ Google วิ่งเข้ามาบ่อยๆ ใช่ไหมครับ

เรียบร้อยครบถ้วนทุกกระบวนการ การติดตั้ง WordPress แบบแมนนวล Manual เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว เชิญกดที่ปุ่ม Log In เพื่อเข้าไปยังส่วนการจัดการระบบ Back end ได้แล้วครับ

ลอง Log In กันได้เลย ถ้าใครจำไม่ได้ คงช่วยอะไรไม่ได้แล้ว เริ่มติดตั้งใหม่อีกสักครั้งดีไหมครับ ถือเป็นการทบทวนไปด้วยเลยไง สำหรับบทความนี้ ก็จบเพียงเท่านี้ครับ ตอนต่อไป เราจะมา Setting ค่าต่างๆ เบื้องต้นของ WordPress กัน เช่น Permalink , ชื่อเว็บไซต์ , คำโปรย , การสร้าง Category กันต่อนะครับ